ระบบชื่อโดเมน (Domain Name System)
ระบบชื่อโดเมนคืออะไร
ก่อนจะทำความเข้าใจระบบชื่อโดเมน ต้องเริ่มด้วยการอธิบายเกี่ยวกับระบบอินเทอร์เน็ตโดยย่อเสียก่อน อินเทอร์เน็ตคือเครือข่ายคอมพิวเตอร์ที่เชื่อมต่อกันโดยใช้โปรโตรคอล TCP/IP อุปกรณ์ใด ๆ ที่จะรับส่ง ข้อมูลในระบบอินเทอร์เน็ตจะต้องมีหมายเลข โดยหมายเลขในเครือข่ายอินเทอร์เน็ตมีชื่อทางเทคนิคว่า หมายเลขไอพี อย่างไรก็ตามมนุษย์ซึ่งเป็นผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตนั้น ไม่คุ้นเคยกับการจดจำหมายเลข ตัวอย่างเช่น ระบบโทรศัพท์จะอ้างอิงเครื่องโทรศัพท์ด้วยหมายเลข แต่ผู้ใช้งานจะคุ้นเคยกับชื่อบุคคล หรือสถานที่มากกว่า ดังนั้นจึงมีสมุดโทรศัพท์ (ที่เป็นกระดาษและไม่ใช่กระดาษ) ที่ช่วยให้ผู้ใช้งานบันทึก ชื่อกับหมายเลขโทรศัพท์ไว้ด้วยกัน ในระบบอินเทอร์เน็ตก็เช่นกัน ผู้ใช้งานอ้างอิงการติดต่อใน โลกอินเทอร์เน็ตด้วยชื่อ เช่น ชื่ออีเมล หรือชื่อเว็บ แต่อุปกรณ์ต่าง ๆ รับส่งข้อมูลโดยใช้หมายเลขไอพี ระบบที่อยู่เบื้องหลังและทำหน้าที่แปลงชื่อไปเป็นหมายเลขไอพีคือระบบชื่อโดเมน (Domain Name System: DNS)
แม้ระบบชื่อโดเมนจะเป็นโปรแกรมที่ทำงานบนเครื่อง คอมพิวเตอร์ แต่ระบบชื่อโดเมนมิใช่แอปพลิเคชันหนึ่งของอินเทอร์เน็ต แต่เป็นโครงสร้างพื้นฐานระดับสำคัญยิ่งยวดของอินเทอร์เน็ต
“Although Domain Name System is a software on computers, it is not an Internet application but critical Internet infrastructure.” ระบบชื่อโดเมนเป็นส่วนประกอบที่สำคัญมากของระบบอินเทอร์เน็ต ทุกครั้งที่มีการใช้งานระบบใด ๆ บนอินเทอร์เน็ต เช่น พร้อมเพย์ LINE Facebook หรืออ่านเมล ระบบชื่อโดเมนจะเป็นขั้นตอนแรกที่ถูกเรียก ใช้งาน หากระบบชื่อโดเมนไม่สามารถทำงานได้ ผู้ใช้งานจะไม่สามารถใช้งานระบบใด ๆ บน อินเทอร์เน็ตได้เลย
นอกจากนี้ระบบค้นหาข้อมูลรายใหญ่ของโลก เช่น Google ก็ต้องอาศัยระบบชื่อโดเมนเช่นกัน เพราะ การเริ่มเก็บข้อมูล จากเว็บต่าง ๆ ทั่วโลกนั้นต้องเริ่มจากการแปลงชื่อเว็บเหล่านั้นไปเป็นหมายเลขไอพี เสียก่อน หากระบบชื่อโดเมนไม่สามารถทำงานได้ Google ก็ไม่สามารถเก็บข้อมูลได้ ดังนั้นจึงสามารถ สรุปได้ว่าระบบชื่อโดเมนเป็น โครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญมากของระบบอินเทอร์เน็ต
การทำงานของระบบชื่อโดเมน
การทำงานของระบบชื่อโดเมน เริ่มจากการที่ อุปกรณ์ของผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ต ต้องแปลงชื่อไป เป็นหมายเลขไอพี (หรือสอบถามข้อมูลอื่น ๆ เช่น ต้องการทราบว่าควรส่งเมลสำหรับหน่วยงานนี้ ไปที่ไหน) โดยจะส่งคำถามไปยังคอมพิวเตอร์ที่ ทำหน้าที่เป็น DNS Resolver (หมายเลข 1) จากนั้น DNS Resolver ก็จะตรวจสอบจาก DNS Cache ว่าเคยมีใครเคยถามคำถามนี้หรือไม่ ถ้ามีก็ตอบ คำถามได้เลย (โดยใช้สำเนาคำตอบที่มีเก็บ ไว้แล้ว) หากไม่มีก็จะสอบถามไปยัง Authority DNS Server ต่าง ๆ ที่อยู่ในอินเทอร์เน็ต (หมายเลข 2) จนได้ คำตอบที่ต้องการ (หมายเลข 3) และส่งคำตอบ ที่ได้นั้นกลับไปยังอุปกรณ์ที่ถามมา (หมายเลข 4) พร้อมทั้งสำเนาคำตอบนั้นไว้ใน DNS Cache เพื่อใช้ตอบคำถามเดิมในครั้งถัดไป